ปัจจุบัน นิยมตกแต่งบ้านด้วยบานกระจกขนาดใหญ่ เพราะช่วยให้ภายในดูโปร่งโล่ง และยังเป็นการเปิดรับวิวด้านนอก ทำให้ผู้ใช้งานต้องเข้าใจถึงคุณลักษณะของกระจกแต่ละประเภทมากยิ่งขึ้น ว่ากระจกประเภทนั้นๆ มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่มากน้อยเพียงใด เพื่อความปลอดภัยของคนในบ้าน และคำนึงถึงอายุการใช้งาน
1. กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass)
เป็นที่รู้จักและคุ้นหูกันดีว่า เป็นกระจกที่มีความคงทนสูง และสามารถต้านทานแรงลมได้ดี เหมาะกับการใช้งานภายนอกอาคาร หรือที่เราเรียกกันว่ากระจกอบ ผลิตจากกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 - 700 องศาเซลเซียส และนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความแข็งแกร่ง สามารถรับแรงกระแทก แรงกด และแรงบีบได้ดี มากกว่าถึง 4-5 เท่า ทนความร้อนได้สูงถึง 290 องศาเซลเซียส ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ถึง 150 องศาเซลเซียส
กระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงจนทำให้กระจกนิ่ม เมื่อกระจกเกิดการแตกหัก จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพดทั่วทั้งแผ่น ซึ่งจะไม่แตกเป็นปากฉลามแบบเดียวกับกระจกธรรมดา จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
จากคุณสมบัติข้างต้น กระจกนิรภัยเทมเปอร์สามารถใช้งานได้ทั้งภายนอก และภายในอาคาร เช่น ใช้ทำเป็นหน้าต่างกระจก, ใช้เป็นประตูบานเปลือย, ผนังกระจกอาคารขนาดใหญ่ และอาคารสูง (Glass Curtain Wall), ฉากกั้นอาบน้ำ ,ผนังกั้นภายใน
2. กระจกลามิเนต (Laminated Glass)
จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง โดยนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass) หรือกระจกธรรมดา (Floated Glass) ตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้น มาประกบหรือติดด้วย PVB (Polyvinyl Butyral) หรือ EVA (Ethylene Vinyl Acetate) ซึ่งนำตัวฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก เมื่อกระจกแตกหักเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น มีลักษณะคล้ายกับใยแมงมุม เพื่อตอบสนองการใช้งานในด้านความปลอดภัยที่สูงกว่ากระจกประเภทอื่น ช่วยลดอันตรายได้มากขึ้น จึงเหมาะกับ ผนังภายนอกอาคารสูง, ราวกันตก, หลังคา Skylight
กระจกลามิเนต ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา และยังช่วยป้องกันความร้อนได้ดี สามารถป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตมากกว่า 90 % ทนต่อแรงอัดกระแทก ป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้
3. กระจกฉนวนกันความร้อน (Insulated Glass)
หรือ กระจกสองชั้น การนำไปใช้งานของกระจกประเภทนี้มุ่งเน้นการป้องกันความร้อน และการประหยัดพลังงานเป็นหลัก โดยนำกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน มีเฟรมอลูมิเนียม หรือ ซิลิคอน คั่นกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น ซึ่งบรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวน ช่วยกันอุณหภูมิภายนอกเข้าสู่ตัวอาคารได้ดี แต่ด้วยการนำกระจกมาประกบกัน ส่งผลให้กระจกมีขนาดที่กว้างขึ้นกว่ากระจกทั่วไป ต้องเผื่อระยะในการติดตั้งมากขึ้น
4. กระจกโฟลต (Float Glass)
เป็นกระจกที่มีความโปร่งแสงสูง ผิวเรียบสนิท ให้แสงส่องผ่านได้สูง สามารถนำไปแปรรูปในการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระจกนิรภัยลามิเนต, กระจกเงา ,กระจกดัดโค้ง ,กระจกพ่นทราย หากต้องการเลือกใช้กระจกประเภทนี้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ใช้ติดตั้งในจุดที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทก เนื่องจากปริแตกง่าย ลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลาม มีความแหลมคม และไม่ทนต่ออุณหภูมิสูง
5. กระจกสีตัดแสง (Heat Absorbing Glass)
เป็นกระจกชนิดเดียวกันกับกระจกโฟลต (Float Glass) โดยการเพิ่มส่วนผสมของโลหะออกไซด์เข้าไปในเนื้อกระจก ทำให้เกิดเฉดสีตามความต้องการ กระจกประเภทนี้สามารถดูดกลืนพลังงานความร้อน ที่ส่องมากระทบชั้นผิวกระจกได้ประมาณร้อยละ 40-50 กระจกมีสีเข้มจะมีค่าการดูดกลืนพลังงานความร้อนมากขึ้น ลดความร้อนภายในบ้านได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าแสงที่ส่องผ่านเข้ามา ทำให้ได้แสงที่นุ่มนวลสบายตาขึ้น สีที่เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดจะเป็นสีเขียว
6. กระจกโลว์อี (Low-E)
เป็นการเคลือบผิวกระจกด้วยสารเงิน (Silver) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่บางมาก ออกแบบเพื่อสะท้อนพลังงานความร้อน แต่ยังคงให้แสงสว่างผ่านเข้ามาได้มากเช่นกัน ซึ่งมีหลากหลายระดับให้เลือกใช้ ได้แก่ ระดับทั่วไปคือฮาร์ดโค้ทโลว์อี (Hard Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อน (Emissivity) 15-36% และกระจกซอฟท์โค้ทโลว์อี (Soft Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำแค่ 2-10% เป็นกระจกที่ให้ค่าการกันความร้อนที่สูงมาก นับได้ว่าเป็นกระจกประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
รวมข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย กระจกแต่ละประเภท : www.wazzadu.com
กระจกสีตัดแสง (Heat Absorbing Glass) : www.ienergyguru.com
กระจกโลว์อี (Low-E Glass) : www.krajok.com